วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ลำดับเหตุการณ์

[แก้] พ.ศ. 2551

มกราคม พ.ศ. 2551 สภากลาโหมของไทยมีมติประท้วงกัมพูชาในกรณีเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ลำพังและกล่าวหาว่ากัมพูชาสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จ ทั้งนี้ฝ่ายกองทัพได้แสดงท่าทีวิตกว่าอาจเกิดความรุนแรงในบริเวณชายแดนได้[7]
พฤษภาคม พ.ศ.2551 พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ประกาศพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2547ครอบคลุมอำเภอ กันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ[8] แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเคยเป็นพื้นที่ประกาศพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ.2547 ช่วงเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549ต่อมาได้ยกเลิกไปในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2551[9]
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย ได้หารือร่วมกับนายสก อาน ที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาตกลงที่จะเปลี่ยนแผนที่ที่แนบในเอกสารคำขอยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยจดทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทประวิหารเท่านั้น ซึ่งตัวปราสาทนี้ศาลโลกได้พิพากษาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 แล้วว่าเป็นของกัมพูชา[6]
ทางกัมพูชาส่งแผนฟังที่ปรับแก้ไขใหม่มาให้ฝั่งไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน กรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบว่าแผนที่ใหม่ที่ส่งมานั้นไม่มีการล้ำเข้ามาในเขตไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติจึงได้พิจารณาเห็นชอบ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างคำแถลงการร่วม[6] ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายนพดล ปัทมะ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ลงนามคำแถลงการร่วมกับฝ่ายกัมพูชาและยูเนสโก[6]
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากระทรวงการต่างประเทศเพื่อขับไล่นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเพื่อยื่นหนังสือทวงถามกรณีข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร เนื่องจากไม่ยอมเปิดเผยแผนที่ให้ประชาชนได้รับรู้ หลังจากตกลงร่วมกับประเทศกัมพูชาไปก่อนหน้านี้[10][11][12]
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และ คณะ รวม 9 คน เป็นตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากพบว่า แผนผังที่ร่างโดยกัมพูชาล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยไม่น้อยกว่า 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่ฝ่ายไทยที่ยึดถือตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2505 หลังคำตัดสินของศาลโลก และทั้งยังจะสละสิทธิในข้อสงวนที่ไทยจะทวงปราสาทเขาพระวิหาร กลับคืนมาในอนาคต และการดำเนินการ ของผู้เกี่ยวข้องไม่ดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมาย
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551 หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมนักวิชาการ เดินทางมาพบ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อรับมอบรายชื่อผู้คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งในส่วนของพันธมิตรฯ ได้มีการมอบรายชื่อให้กับทางสถาบันไทยคดีศึกษาไปแล้ว 6,000 รายชื่อ และวันที่ 27 มิถุนายน มอบให้อีก 3,488 รายชื่อ ซึ่งล่าสุดตัวเลขของผู้ที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารมีทั้งหมด 33,400 รายชื่อ ภายหลังจากที่มีการรับมอบรายชื่อจากแกนนำกลุ่มพันธมิตรแล้ว ม.ล.วัลวิภา ยังได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ ต่อนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย[13]
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ศาลได้ไต่สวนฉุกเฉินคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และใช้เวลาไต่สวนกว่าสิบชั่วโมง จนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อเวลา 02.00 น. ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้[14][15]
  1. ให้เพิกถอนการกระทำของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
  2. เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วม ฯ โดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ฯ
  3. ให้เพิกถอนการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551
  4. มีคำสั่งให้นายนพดล ปัทมะ ยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ร่วม ฯ ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโก
ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อตกลงกับกัมพูชาว่าเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาก่อน[16]
เวลา 2.00 น. วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 (ตามเวลาประเทศไทย) ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก พร้อมกับสถานที่อื่นอีก 4 แห่ง

[แก้] พ.ศ. 2552

วันที่ 3เมษายน พ.ศ.2552 ประเทศกัมพูชาได้ปะทะกับประเทศไทยด้วยอาวุธเป็นครั้งแรกเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ช่วงเข้า และมีการปะทะกันรอบสองในวันเดียวกันซึ่งการปะทะกันรอบสอง กองทัพกัมพูชาได้ยิงจรวดอาร์พีจีเข้ามาในฝั่งไทย ส่งผลให้ทหารเสียชีวิตสองนาย[17] วันที่ 22-30 มิถุนายน พ.ศ. 2552 มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 33 ที่เมืองเซบีญา ราชอาณาจักรสเปน ประเทศไทย มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการมรดกโลก ว่าไม่เป็นไปตามธรรมนูญของสหประชาชาติ
วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเรียนเอกอัคราชฑูตไทยประจำประเทศกัมพูชากลับประเทศเพื่อประท้วงการแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรเป็น ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชารวมถึงการปฏิเสธการส่งตัวให้ทางการราชอาณาจักรไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน[18]โดยกระทรวงการต่างประเทศให้เหตุผลในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้หลบหนีคดีอาญา ตามหมายจับของศาล

[แก้] พ.ศ. 2553

[แก้] เหตุคนไทยถูกทหารกัมพูชาจับกุม พ.ศ. 2554



วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553 พนิช วิกิตเศรษฐ์ พร้อมกับพวกจำนวน 6 คน ซึ่งบางส่วนเป็นสมาชิกเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ประกอบด้วยวีระ สมความคิด, กิชพลธรณ์ ชุสนะเสวี, ร้อยตรีแซมดิน เลิศบุศย์, ตายแน่ มุ่งมาจน, นฤมล จิตรวะรัตนา และราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบที่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าทหารกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในเขตไทย บริเวณอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว[19] ได้ข้ามแดนบริเวณหลักเขตแดนที่ 46 บ้านภูมิโจกเจย (บ้านโชคชัย) ตำบลโอเบยเจือน อำเภอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย และถูกทหารรักษาชายแดนที่ 503 ของกัมพูชาควบคุมตัว[20] โดยศาลเขตพนมเปญได้ตั้งข้อหาพนิช และพวกในข้อหาเดินทางข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมาย และรุกล้ำเขตทหาร ได้ถูกนำตัวไปขังไว้ในเรือนจำเปนย์ ซาร์ นอกกรุงพนมเปญ[21] ด้านกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเข้าพบฮอร์ นำฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อเจรจาในประเด็นดังกล่าว[22] ฝ่ายทนายความเตรียมยื่นขอประกันตัวทันทีที่มีการพิจารณาคดี[23]
การเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาดังกล่าว มีรายงานว่า พนิชได้รับมอบหมายจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ไปทำความเข้าใจกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังจากที่มีการยืนยันว่าทหารกัมพูชาเข้ามาในดินแดนไทย แต่การกระทำดังกล่าวปราศจากการประสานความร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชา จึงทำให้ถูกจับกุมในที่สุด[24] ส่วนทางด้านประธานคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา รัฐสภา ปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งพนิชและคณะลงพื้นที่[25]
ทางกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ได้เดินทางมายังสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย โดยมีการเผาโลงศพที่มีภาพฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ติดอยู่ที่ฝาโลง พร้อมกับพวงหรีด เป็นการประท้วง พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวคณะทั้งหมด โดยขั้นต่อไปอาจชุมนุมประท้วงต่อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล[19]
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เปิดเผยเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเบ พูลสุข แสดงบริเวณที่บุคคลทั้งหมดถูกจับกุมตัว เป็นน.ส.3 ก ที่ออกโดยกรมที่ดิน ระบุวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2517 [26] ขณะที่ทางการกัมพูชานำวิดีโอหลักฐานมาเปิดดูปรากฏว่าคณะดังกล่าวรุกเข้าไปในเขตกัมพูชาจริง[21] ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวยอมรับว่า พนิชและคณะได้รุกล้ำอาณาเขตกัมพูชาจริง แต่ไม่น่าจะมีเจตนา โดยเป็นการกระทำจากความประมาท พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มต่าง ๆ ยุติความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพนิช เนื่องจากอาจทำให้ทางกัมพูชาไม่พอใจ และเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ[27]
ส่วนทางด้านพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่พนิชเดินทางไปยังพื้นที่ทับซ้อนโดยไม่มีการประสานงานกับกัมพูชาก่อนเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงการกระทำดังกล่าวถึงสาเหตุและที่มาของการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว และแสดงความเป็นห่วงที่วีระ สมความคิดถูกจับกุมไปด้วย เกรงว่าอาจมีการปลุกกระแสทำให้ปัญหาบานปลาย[28] สุนัย จุลพงศธร หนึ่งในคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เปิดเผยว่า ตนพร้อมจะนำประเด็นดังกล่าวมาหยิบยกเป็นหัวข้ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่งไปจริง ก็จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบด้วย[29]
วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554 กลุ่มเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสหประชาชาติให้เข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าว โดยเห็นว่าคณะเป็นคนไทย หากกระทำความผิดก็ต้องขึ้นศาลไทย เป็นการรุกรานและคุกคามสิทธิพลเมืองของชาติที่มีปัญหาชายแดนระหว่างกัน ขัดต่อข้อตกลงเจนีวา (พ.ศ. 2492)[21] พร้อมทั้งแถลงข่าวว่า พื้นที่ที่ 7 คนไทยถูกจับอยู่ในเขตที่ดินของเบ พูลสุข ราษฎรชาวไทย เป็นพื้นที่ของไทยไม่ใช่ของเขมร ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเคยจัดตั้งศูนย์อพยพชั่วคราวในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2520 แต่เมื่อเหตุการณ์สงบชาวกัมพูชาก็ไม่ยอมอพยพออกไปจากพื้นที่ [21] วันเดียวกัน ทางกลุ่มมีแผนจะนำหลักฐานมาแถลงข่าวยังทำเนียบรัฐบาล พร้อมประกาศจะนำมวลชนไปยังบริเวณที่คณะถูกจับกุมในวันที่ 3 มกราคม[21]
วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554 มีการรายงานว่า ภรรยาพนิช วิกิตเศรษฐ์ และเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ได้เข้าเยี่ยมคนไทยที่ถูกจับกุมทั้งเจ็ดคนแล้ว เพื่อดูแลเรื่องอาหารและเสื้อผ้า[30]
วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554 ธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ศาลกัมพูชานัดไต่สวนคนไทยทั้งเจ็ดคนในวันรุ่งขึ้น เวลา 8.00 น. ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศพร้อมให้ความช่วยเหลือทั้งเจ็ดคนโดยเท่าเทียมกัน ด้านพลตรีนพดล โชติศิริ รองเจ้ากรมแผนที่ทหาร กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการสั่งเจ้าหน้าที่ไปวัดพิกัดกำหนดจุดที่ถูกจับกุม ผลการวัดพบว่า คณะคนไทยรุกล้ำเข้าไปในดินแดนของกัมพูชาซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนอยู่ 55 เมตร ด้านวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สมาชิกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ระบุว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทราบอีกด้วยว่าคณะคนไทยดังกล่าวเข้าไปในเขตแดนกัมพูชา จึงอยากให้ออกมาแสดงความยอมรับผิด[31]
วันที่ 7 มกราคม พนิชให้การต่อศาลว่าเดินทางเข้าไปในพื้นที่ เพื่อพบชาวบ้านที่อ้างว่าชาวกัมพูชาย้ายหลักหมุดบนดินแดนของไทย พร้อมกับให้การว่าเป็นการเดินทางเข้าไปโดยอุบัติเหตุ แต่เหมือนจะขัดแย้งกับคำกล่าวของพนิชในหลักฐานคลิปวิดีโอ ที่พนิชให้ผู้ติดตามเรียนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า คณะได้ข้ามมาในฝั่งกัมพูชาแล้ว[32] ด้านทนายความเตรียมยื่นประกันตัวในวันที่ 10 มกราคม เพราะศาลกัมพูชายังคงปิดทำการในวันหยุดราชการ โดยคณะคนไทยทั้งเจ็ดถูกนำตัวกลับไปคุมขัง[33]
วันที่ 13 มกราคม มีรายงานว่า ศาลกัมพูชาให้ประกันตัวพนิช วิกิตเศรษฐ์ และนฤมล จิตรวะรัตนา โดยยังคงอยู่ระหว่างสู้คดีในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเข้าไปในเขตทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนคนไทยที่เหลือยังไม่ได้รับการประกันตัว เงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ วางเงินประกันคนละ 1 ล้านเรียล (10,000 บาท) และต้องไปรายงานตัวตามนัดเรียก โดยขณะนี้ทั้งสองยังพำนักอยู่ที่สถานทูตไทย[34] ด้าน ธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารสนเทศ ระบุว่า ศาลกัมพูชาไม่ได้ให้เหตุผลที่ยอมให้ประกันตัวทั้งสอง แต่เห็นว่า น่าจะเป็นเพราะปัญหาด้านสุขภาพ ที่ทั้งสองป่วยเป็นโรคความดันโหลิตสูงและโรคไทรอยต์ตามลำดับ ส่วนคนไทยที่เหลือ ทนายความยื่นอุทธรณ์แล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม[35]
วันที่ 19 มกราคม ศาลกัมพูชาให้ประกันตัวคนไทยเพิ่มอีก 4 คน เหลือเพียงวีระ สมความคิดเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าวีระถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของกัมพูชา[36] วันที่ 21 มกราคม ศาลกัมพูชาได้พิจารณาตัดสินคดี ซึ่งกำหนดเดิมคือ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เมื่อเวลา 19.35 น. ศาลกัมพูชาได้ตัดสินว่าคนไทยทั้ง 5 คน ได้แก่ พนิช กิชพลธรณ์ ร.ต.แซมดิน ตายแน่ และนฤมล มีความผิดฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยให้จำคุกคนละ 9 เดือน แต่ให้ลดเหลือ 8 เดือน และให้รอลงอาญาไว้ก่อน หลังจากการตัดสินดังกล่าว ทำให้คนไทยทั้ง 5 คนสามารถเดินทางกลับประเทศได้ทันที[37]

[แก้] เหตุปะทะกันบริเวณชายแดน พ.ศ. 2554

[แก้] กุมภาพันธ์

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ระหว่างการปะทะกันนานถึง 4-5 ชั่วโมง สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ทหารไทยเสียชีวิต 7 นาย ส่วนทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย และได้รับบาดเจ็บ 4 นาย[38] ส่วนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 2-3 นาย[39] ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย และมีการจับกุมทหารไทยไป 5 นาย[40] พลเรือนไทยคนหนึ่งเสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่[41]
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทหารไทยและกัมพูชาปะทะกันอีกรอบ ทหารไทย 1 นาย ถูกจับกุมระหว่างการปะทะ[42]
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ CNN รายงานว่า ไทยได้ถล่มกัมพูชายับเยินโดยยิงปืนใหญ่ 155 มม. ปูพรมไปทั่วแดนกัมพูชา ถนนและฐานทหารเสียหายมากมาย รถถังและรถหุ้มเกราะกัมพูชาเสียหายใช้การไม่ได้กว่าสามสิบคัน ส่วนรายชื่อผู้เสียชีวิตของทหารกัมพูชายังมิอาจประเมินได้เนื่องจากพื้นที่ไฟไหม้ แต่คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่าหกร้อยนาย [43]
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศ พื้นที่ตำบลเสาธงชัย หมู่ที่ 2 3 9 10 12 13 และตำบลรุง หมู่ที่ 5 7 10 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศ พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดศรีสะเกษ ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษณ์ ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศทำหนังสือชี้แจงถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ[44]
ทางการมีการประกาศให้ประชาชนเข้าไปในหลุมหลบภัย และมีการอพยพย้ายออกจากพื้นที่ของประชาชน เพื่อป้องกันการที่ฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธหนักยิงเข้ามา ด้าน พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่า การปะทะกันของทหารทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.40 น. เริ่มจากทางทหารกัมพูชายิงพลุส่องสว่างเข้ามาตกที่บริเวณภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ หลังจากนั้นทหารกัมพูชายิงปืนใหญ่ของรถถังเข้ามาอีก ทำให้ทหารไทยต้องใช้มาตรการตอบโต้ โดยยิงเครื่องยิงลูกระเบิดสวนกลับไป[45]
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554: ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้ลงความเห็นปฏิเสธข้อเรียกร้องของสมเด็นฮุน เชน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ต้องการให้จัดประชุมฉุกเฉินประเทศสมาชิกคณะมนตรีฯ 15 ชาติและส่งกำลังทหารเข้ามารักษาความสงบในพื้นที่พิพาท โดยระบุควรแก้ไขปัญหากันเองในระดับภูมิภาค[46] วันเดียวกัน ไม่มีเหตุปะทะกันเพิ่มเติม แต่มีรายงานว่าทหารกัมพูชาได้ใช้ช่วงที่ยังหยุดยิงกันอยู่นี้ขุดที่ตั้งใหม่และจัดตั้งกระสอบทรายเพิ่มเติม[47] ทหารไทยนายหนึ่งซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการยิงปืนใหญ่เมื่อวันที่ 6 เสียชีวิตเนื่องจากพิษบาดแผลที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์[48]
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 นายกษิต ภิรมย์ได้แถลงด้วยวาจาต่อประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ในถ้อยแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศระบุใจความตอนหนึ่งว่าฝ่ายกัมพูชาละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ที่ได้ตกลงกันใน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ณ ช่องสะงำในจังหวัดศรีสะเกษ ที่ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงที่จะหยุดยิงทันที ผู้บังคับการทหารระดับภูมิภาคของไทยและฝ่ายกัมพูชา เป็นตัวแทนเจรจา
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้เกิดการปะทะกันรอบใหม่ขึ้น เหตุยิงกันดังกล่าวกินเวลาไม่กี่นาที ถึงแม้ว่าสื่อท้องถิ่นจะรายงานว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 5 นาย แต่กองทัพออกมาระบุว่ามีทหารได้รับบาดเจ็บ 1 นายจากการสู้รบ[49]
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ การปะทะกันทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีการปะทะกันถึงสามครั้งในวันนี้ (5.00 น., 20.00 น., 22.00 น.) แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่าย โฆษกกองทัพบกไทย สรรเสริญ แก้วกำเนิด ระบุว่า ฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้เริ่มโจมตีก่อน โดยใช้ปืนครกและอาร์พีจี ทำให้ฝ่ายไทยต้องทำการตอบโต้[50] อย่างไรก็ตาม ปาย สิฟาน โฆษกคณะรัฐมนตรีกัมพูชาปฏิเสธว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน และกล่าวตรงกันข้าม กัมพูชาต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อป้องกันมิให้มีการสู้รบเกิดขึ้นต่อไป ขณะที่ไทยกล่าวว่าปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขในระดับทวิภาคี[51] ในวันเดียวกัน มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ารถถังเวียดนามได้มุ่งหน้ามายังชายแดนไทย-กัมพูชา[52] อย่างไรก็ตาม ฮุน เซน ปฏิเสธรายงานดังกล่าว[53]
ในความตกลงซึ่งบรรลุในการประชุมอาเซียนในจาการ์ตา กัมพูชาและไทยตกลงที่จะให้ผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียสังเกตพื้นที่พิพาทพรมแดน โดยมีทั้งทหารและพลเรือนรวม 40 คน ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียออกมาระบุว่า คณะที่ส่งไปนั้นมิใช่เพื่อรักษาสันติภาพหรือใช้กำลังให้เกิดสันติภาพ โดยคณะดังกล่าวจะไม่ติดอาวุธ[54]

[แก้] เมษายน- พฤษภาคม

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554 ทางการไทยได้ยอมรับว่ามีการใช้กระสุนระเบิดทวิประสงค์ (DPICM) ระหว่างการปะทะกันจริง ซึ่งถูกระบุตามจากกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือต่อต้านระเบิดลูกปราย (CMC) ว่าเป็นระเบิดลูกปรายประเภทหนึ่ง[55] โดยอาวุธดังกล่าวประกอบด้วยระเบิดมือขนาดเล็กนับหลายร้อยลูก หรือลูกปราย ซึ่งกระจายไปกินอาณาบริเวณกว้าง และถูกห้ามโดยประเทศส่วนใหญ่ตามอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญา แต่ได้ให้สัญญาอย่างเปิดเผยว่าจะไม่ใช้อาวุธดังกล่าว[56] ทาง CMC กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการใช้ระเบิดลูกปรายที่ได้รับการยืนยันครั้งแรกนับตั้งแต่อนุสัญญาได้กลายมาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ[55]

ปราสาทตาเมือนธม
วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ในช่วงเช้าได้เกิดการปะทะกันขึ้นบริเวณจังหวัดสุรินทร์[57] ด้านปราสาทตาควาย ต.บักได อ.พนมดงรัก เรื่อยมาจนถึงปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 4 นาย[58] และบาดเจ็บอีก 14 นาย[59] มีการพบลูกกระสุนปืนใหญ่ฝ่ายทหารเขมรยิงเข้าตกมายังฝั่งไทยที่บริเวณฝายน้ำล้น บ้านสายโท 12 ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ 1 ลูก พร้อมได้ยินเสียงปืนดังตลอดเวลาจึงต้องทำการอพยพ ชาวบ้าน ราว 2,500 คนออกจากพื้นที่[60] ทางกระทรวงต่างประเทศไทยส่งหนังสือประท้วงอย่างรุนแรงที่สุดผ่านเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย[61] หลังจากเกิดเหตุการณ์การปะทะผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้ประกาศอำเภอบ้านกรวดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภาวะสงครามทั้งอำเภอ[62] ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ บริเวณปราสาทตาเมือนธม หมู่ที่ 8 ตำบลตาเมียง พื้นที่ หมู่ที่ 1-15 ตำบลแนงมุด หมู่ที่ 1-14 ตำบลโคกตะเคียน หมู่ที่ 1-20 ตำบลกาบเชิง หมู่ที่ 1-18 ตำบลด่าน หมู่ที่ 1-9 ตำบลตะเคียน อำเภอพนมดงรัก ในพื้นที่หมู่ที่ 1-20 ตำบลบักได หมู่ที่ 1-12 ตำบลตาเมียง หมู่ที่ 1-12 ตำบลจีกแดก หมู่ที่ 1-11 ตำบลโคกกลาง จังหวัดสุรินทร์ ทั้ง 2 ตำบล เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศ[63]และพลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้แถลงตอนหนึ่งว่า ในเวลานี้ไม่จำเป็นต้องเจรจากับใครหากชาติไทยถูกลุกล้ำ หรือถูกภัยคุกคามประเทศ ก็พร้อมที่จะใช้กำลังตอบโต้จนถึงที่สุด[64] และได้สั่งการเตรียมพร้อมยกระดับแผนป้องกันประเทศ[65]
วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ อำเภอกาบเชิง ยกเว้นอำเภอคูตัน อำเภอปราสาท บางอำเภอ จังหวัดสุรินทร์เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศและมีทหารไทยเสียชีวิตเพิ่ม 1 นาย ด้านกัมพูชามีการอพยพประชาชนราว 5,000 คนในจังหวัดบันเตียเมียนเจย โดยย้ายออกไป 30 กิโลเมตรจากเขตสู้รบ[66][67]
วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีการปะทะกันเป็นวันที่สาม ทหารไทยเสียชีวิต 1 นายได้รับบาดเจ็บ 6 นาย[68]
วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีการปะทะกันเป็นวันที่สี่ อาสาสมัครทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย[69] นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศให้พื้นที่ หมู่ที่ 1, 4, 6, 7, 9, 12, 13, 16, 18 ตำบลโคกสะอาด และหมู่ที่ 4,12 ตำบลโชคนาสาม อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศ[70] พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่าการจะประกาศสงครามกับประเทศกัมพูชาจำเป็นต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน[71] กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ประกาศทบทวนนโยบายต่างประเทศกับประเทศกัมพูชาทั้งหมด โดยอ้างว่าทางการกัมพูชาไม่ต้องการการเจรจาจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการ[72]
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2554 โฆษกกระทรวงกลาโหมของไทย ได้แถลงว่ากองทัพมีความพร้อมทางยุทโธปกรณ์ ที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศและตอบโต้ตามความเหมาะสม กับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถ้อยแถลงนี้เกิดขึ้นมีขึ้นหลังจากการประชุมสภากระทรวงกลาโหมได้เสร็จสิ้นลง และหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศประกาศทบทวนนโยบายด้านการต่างประเทศกับประเทศกัมพูชาทั้งหมด ในขณะที่การปะทะได้ลุกลามออกไปที่จังหวัดศรีสะเกษ ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์[73] มีรายงานว่าจนถึงขณะนี้ ทหารไทยเสียชีวิต 5 นาย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 35 นาย ส่วนทหารกัมพูชาเสียชีวิต 7 นาย ได้รับบาดเจ็บ 17 นาย และอีก 1 นายหายสาบสูญ[74][75]
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านอำเภอกาบเชิง เสียชีวิต 1 คน[76] รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของไทยเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน โดยเป็นไปตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ทั้งนี้คาดว่าเป็นการหารือเรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เนื่องจากกองทัพกัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีสื่อกัมพูชาบางแห่งรายงานว่าไทยได้ยอมรับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น[77]
วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 มีการยืนยันว่าทหารไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 นาย[78][79] ตั้งแต่เวลา 20.20 น.ทหารกัมพูชายิงปืน ค.60 เข้ามาบริเวณปราสาทตาควาย 4 ลูก [80]ส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ ส่วนประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505ที่ศาลได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 และในวันเดียวกันประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน [81] วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ทหารไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน[82] โฆษกกองทัพไทยระบุว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บเพิ่มอีก 11 นาย รวมมีทหารได้รับบาดเจ็บรวม 58 นาย[83]
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 การสู้รบดำเนินต่อไปเป็นวันที่เก้า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือทหารไทยบาดเจ็บ 10 นาย [84] วันเดียวกัน แม่ทัพภาคที่ 2 พลโท ธวัชชัย สมุทรสาคร ได้อาศัยอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ให้พื้นที่ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ภัยสงคราม[85] นับเป็นครั้งแรกที่ทหารใช้อำนาจตามประกาศพระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศมาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2550[86] โดยขับไล่ประชาชนไม่อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ และประกาศเป็นเขตภัยสงคราม[87]พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเดินทางกลับจากสาธารณรัฐประชาชนจีน[88]
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ทหารไทยได้รับบาดเจ็บสองนายจากการปะทะ ที่ บริเวณปราสาทตาควาย ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ [89] ประชาชนเสียชีวิตที่ศูนย์อพยพสองรายสาเหตุจากความเครียดจากการปะทะตามแนวชายแดน[90] ฝ่ายกัมพูชามีทหารเสียชีวิต 1 นาย ทำให้เหตุการณ์ปะทะกันตั้งแต่เดือนเมษายนมีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 17 คน แบ่งเป็นทหารกัมพูชา 9 นาย ทหารไทย 7 นาย และพลเรือนชาวไทยเสียชีวิต 1 คน ส่วนจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น ชาวไทยได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 95 คน แบ่งเป็นทหาร 50 นาย และทหารกัมพูชาได้รับบาดเจ็บ 18 นาย[91][92] ด้านโฆษกกองทัพไทย พันเอกประวิทย์ หูแก้ว ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันด้วยอาวุธปืนอัตโนมัติตลอดคืนวันดังกล่าว และทางการไทยอ้างว่าไม่มีทหารไทยคนใดเสียชีวิตในเหตุปะทะกันดังกล่าว[93] ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชาออกแถลงการณ์ซึ่งประณามไทยจากเหตุปะทะกันนานสิบวัน มีใจความว่า "การรุกรานกัมพูชาของทหารไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้สร้างความเสียหายแก่กัมพูชาทีละน้อย นี่เป็นพฤติการณ์ที่ไม่อาจยอมรับได้"[94]
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ผู้บัญชาการทหารบกสั่งเตรียมเคลื่อนย้ายกำลังกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว (อาร์ทีเอฟ) ของกองทัพบกนอกจากนี้ผู้บัญชาการทหารบกสั่งเตรียมเคลื่อนย้ายกำลังกองทัพภาคที่ 3 โดยมีการสนธิกำลังจาก กองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร. 4 ) จำนวน 1 กองพัน [95]ทหารไทยเสียชีวิต 1 นาย[96]
วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายกษิต ภิรมย์ เดินทางไปยัง กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหารือกับ คณะที่ปรึกษาทางกฎหมายต่างชาติ เพื่อต่อสู้คดีภายหลังประเทศกัมพูชา ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ[97]
วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ชาวบ้าน ต.บักได อ.พนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ทำการอพยพ หลังจากทราบข่าวว่ามีการเคลื่อนกำลังของกองทัพกัมพูชา บริเวณช่องกร่าง ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างปราสาทตาควายกับปราสาทตาเมือนธม[98]
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ชาวบ้าน ต.บักได อ.พนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ได้รับการแจ้งว่ากองทัพกัมพูชากำลังทดสอบอาวุธปืนใหญ่ บริเวณชายแดนเพื่อปรับพิกัดอาวุธปืน จึงได้ยินเสียงปืนใหญ่เป็นระยะ ๆ[99] ในวันเดียวกันแม่ทัพภาคที่สองสั่งให้ทำการปิดพรมแดน โดยกล่าวว่ามีการส่งออกน้ำมันและยุทธปัจจัยไปยังประเทศกัมพูชา[100]
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 กองทัพกัมพูชาทำการทดสอบอาวุธปืนใหญ่เป็นวันที่สองและสามส่งผลให้ชาวบ้านได้ยินเสียงปืนใหญ่มาจากฝั่งชายแดนประเทศกัมพูชาเป็นระยะ ๆ[101]

[แก้] มิถุนายน

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 อ.กันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านได้ยินเสียงปืนเอ็ม61 วัลแคนเอ็ม 16ปืนสั้นดังมาจากบริเวณภูมะเขือยาวนานกว่า 6 นาที[102]สร้างความหวาดกลัวแก่ชาวบ้าน

[แก้] การตีความคำพิพากษา

หลังความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 และในวันเดียวกันประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลเดียวกันเพื่อขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนพิจารณาของศาล

ชาติกำเนิดของพระพุทธเจ้า

พระโคตมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และ พระนางสิริมหามายา ประสูติในราชตระกูลศากยวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์ทรงออกผนวชเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา บำเพ็ญเพียรอยู่ 6 ปี จึงตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา และทรงประกาศพระศาสนาอยู่ 45 ปี จึงเสด็จปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา[1] ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการนับปีพุทธศักราช
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน จึงเกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะ จนทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระโกณฑัญญะจึงกราบทูลขออุปสมบทในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งนับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก[2] และพระรัตนตรัยจึงเกิดขึ้นในโลกเช่นกันในวันนั้น ต่อมา พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอื่น ๆ เพื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่เหลืออีก 4 องค์ จนบรรลุเป็นพระโสดาบันทั้งหมด หลังจากพระปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระโสดาบันหมดแล้ว พระองค์ทรงแสดงธรรมอนัตตลักขณสูตร ซึ่งทำให้พระปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
ต่อจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระยสะและพวกอีก 54 ท่าน จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ในครั้งนั้นจึงมีพระอรหันต์รวมทั้งพระองค์ด้วยทั้งสิ้น 61 พระองค์ พระพุทธเจ้าจึงพระดำริให้พระสาวกออกประกาศศาสนา โดยมีพระปฐมวาจาในการส่งพระสาวกออกประกาศศาสนาว่า
Cquote1.svg
ดูกรพระภิกษุทั้งหลาย เราหลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์ แม้พวกเธอได้หลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งของทิพย์และของมนุษย์เช่นกัน พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าไปทางเดียวกัน 2 รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะให้ครบถ้วนบริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี คือ กิเลส ในจักษุเพียงเล็กน้อยมีอยู่ แต่เพราะโทษที่ยังไม่ได้สดับธรรม จึงต้องเสื่อมจากคุณที่พึงจะได้รับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึงธรรมมีอยู่ แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม

ประเพณีไทย ภาคใต้


ประเพณีไทยภาคใต้
ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า หรือ ประเพณีลากพระ
ช่วงเวลา
          วันลากพระ จะทำกันในวันออกพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม 2 ค่ำ เดือน 11 จึงลากพระกลับวัด

ความสำคัญ
          ประเพณีชักพระหรือลากพระนั้นเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ ที่ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย โดยสันนิษฐานว่าได้เกิดมีขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเพณีความเชื่อของพราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชน มีพุทธตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงได้ทรงกระทำยมกปาฏิหารย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี และได้เสด็จไปทรงจำพรรษา ณ ดาวดึงส์ เพื่อทรงโปรดพระพุทธมารดา จนพระพุทธมารดาได้ทรงสิ้นพระชนม์ลง จึงทรงได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ เมื่อพระอินทร์ทรงทราบจึงได้นิมิตบันไดนาค บันไดแก้วและบันไดเงินทอดลงมาจากสรวงสวรรค์ เมื่อพุทธศาสนิกชนได้ทราบจึงพร้อมใจกันมาเฝ้ารับเสด็จที่หน้าประตูนครสังกัสสะ ในตอนเช้าของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พร้อมกับได้จัดเตรียมภัตตาหารเพื่อถวายแด่พระพุทธองค์

พิธีกรรม
          1. การแต่งนมพระ
          นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ 2 แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ 4 ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจกแวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม
          2. การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ
          พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลากเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัดจะทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย
          3. การลากพระ
          ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น 2 สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง
          ตัวอย่าง บทร้องที่ใช้ลากพระสร้อย :
          อี้สาระพา เฮโล เฮโล
          ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว
          ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ
สาระ
          ประเพณีลากพระ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีพร้อมใจกันในการทำบุญทำทาน จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้
          1. ชาวบ้านเชื่อว่า อานิสงส์ในการลากพระ จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล เกิดคติความเชื่อว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" นมพระจึงสร้างสัญลักษณ์พญานาค เพราะเชื่อว่าให้น้ำ การลากพระจึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตร
          2. เป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อว่า ใครได้ลากพระทุกปี จะได้บุญมาก ส่งผลให้พบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อนมพระลากผ่านหน้าบ้านของใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากพระ และคนบ้านอื่นจะมารับทอดลากพระต่ออย่างไม่ขาดสาย
          3. เกิดแรงบันดาลใจ แต่งบทร้อยกรองสำหรับขับร้องในขณะที่ช่วยกันลากพระ ซึ่งมักจะเป็นบทกลอนสั้น ๆ ตลก ขบขัน และโต้ตอบกัน ได้ฝึกทั้งปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประเพณีไทยภาคกลาง

1. ประเพณีวิ่งควาย
ช่วงเวลา           ในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 ก่อนออกพรรษา 1 วัน ของทุกปี

ความสำคัญ 
          ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน จุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมของไปถวายวัด ปัจจัยไทยธรรมได้พักผ่อนและได้สังสรรค์กันระหว่างชาวบ้านซึ่งเหนื่อยจากงานและให้ควายได้พักเนื่องจากต้องตรากตรำในการทำนา ปัจจุบันประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีของจังหวัดชลบุรี โด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ

ประเพณีวิ่งควาย
ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี

พิธีกรรม 
          เนื่องจากสมัยก่อน ประเทศไทยทำอาชีพ เกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งก็จะใช้ควายเป็นกำลังหลักในการ ไถ่หว่านพืชพันธุ์ ชาวบ้านจึงมีการ เลี้ยงควายไว้ใช้งาน เป็นจำนวนมาก และหลังจากสิ้นสุดฤดูกาล เพาะปลูกชาวบ้านก็ได้รวมตัวกัน จัดการแข่งขันวิ่งควายขึ้น เพื่อเป็นการพักผ่อน สร้างความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีในหมู่คณะขึ้น ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี 
          ในงานแข่งขัน ประเพณีวิ่งควาย ชาวบ้านต่างก็ประดับประดาควายของตัวเองให้สวยงาม เพื่อนเป็นการสร้างสีสันให้กับ ประเพณีวิ่งควาย ภายหลังจึงได้มีการประกวด ควายสวยงามด้วย ซึ่งนอกจากจะมีการ ประกวดควายสวยงามแล้ว ภายในงานก็จะ มีการทำขวัญควาย (ซึ่งก็จะเหมือนกับพิธีสู่ขวัญ มีบายสีสู่ขวัญ) 
          ในปัจจุบันทางเทศบาลเมืองชลบุรี จะทำการจัดงาน ประเพณีวิ่งควายขึ้นที่อำเภอบ้านบึง ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด  ที่ตลาดหนองเขิน อำเภอบ้านบึง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด และที่วัดดอนกลาง ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง ก็จะจัด ประเพณีวิ่งควาย ขึ้นในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบเอ็ด ซึ่งเป็นวันทอดกฐินประจำปี ของทางวัดดอนกลางด้วย 
          ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่จะ เปลี่ยนจากควาย มาเป็นเครื่องจักร ในการประกอบอาชีพ เกษตรกรรมแล้ว แต่ชาวจังหวัดชลบุรี และเทศบาลเมืองชลบุรีก็จัง คงสืบสาน ประเพณีวิ่งควาย เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ และเป็นการแสดงถึงความสามัคคีของ ชาวจังหวัดชลบุรีต่อไป
สาระ 
          แสดงถึงความสามัคคีของชาวไร่ชาวนาได้มีโอกาสพบปะกัน และแสดงเมตตาต่อผู้มีบุญคุณ คือควายเพื่อให้ควายได้พักผ่อน ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ก่อนออกพรรษา ซึ่งเป็นวันใกล้สิ้นฤดูฝนจะย่างเข้าฤดูหนาว ประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีที่จัดเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เหตุที่เลือกเอาวันนี้เพราะเป็นวันพระ ชาวไร่ชาวนาเอาควายมาเทียมเกวียนบรรทุกกล้วย มะพร้าว ใบตอง ยอดมะพร้าว มาขายเพื่อคนในเมืองจะได้ซื้อไปห่อข้าวต้มหาง ทำบุญตักบาตร วันเทโวโรหนะ วันออกพรรษาขากลับจะได้มีโอกาสซื้อของไปทำบุญเลี้ยงพระตามวัดวาอารามใกล้เคียงในวันพระ และวันออกพรรษา ประเพณีวิ่งควาย ปัจจุบันในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี จัดขึ้นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11  อำเภอบ้านบึงจัดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตลาดหนองเขิน ตำบลหนองชาก อำเภอบ้านบึง จัดวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  วัดกลางดอน ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จัดวิ่งควายในการทอดกฐินประจำปีของวัด


2. ประเพณีรับบัว
ช่วงเวลา 
          เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ถึง ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ก่อนออกพรรษา 

ความสำคัญ 
          ประเพณีรับบัวเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น ของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมิได้ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่ยุคใดสมัยใด 
ประเพณีรับบัวนี้มีข้อสันนิษฐานความเป็นมาได้ 3 ประการ
          ประการแรก 
          ในสมัยก่อนในแถบอำเภอบางพลี มีประชากรอาศัยอยู่ 3 พวกคือ คนไทย รามัญ และลาว แต่ละพวกจะมีหัวหน้าคอยควบคุมดูแลและทำมาหากินในอาชีพต่างๆกัน ซึ่งชาวรามัญในสมัยนั้นจะขุดบ่อเลี้ยงปลาเป็นอาชีพต่อมาทั้งคนไทย รามัญและลาว ทั้ง 3 พวกก็ปรึกษาหารือกันว่าสมควรจะช่วยกันหักล้างถางพงให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อทำไร่ทำสวนต่อไป บริเวณนี้แต่ก่อนเต็มไปด้วยป่าพงอ้อ พงแขมและไม้นานาชนิดขึ้นเต็มไปหมด ฝั่งทางตอนใต้ของลำคลองสำโรงก็เต็มไปด้วยป่าแสม น้ำก็เป็นน้ำเค็ม ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ร้ายนานาชนิดทางฝั่งตอนเหนือก็เต็มไปด้วยบึงขนาดใหญ่ ภายในบึงแต่ละบึงก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยบัวหลวงมากมาย พวกคนไทย รามัญและลาว ก็พยายามหักล้างถางพงเรื่อยมาจนถึงทางแยก 3 ทางคือ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นคลองสลุด ทางเหนือเป็นคลองชวดลากข้าว และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นคลองลาดกระบัง คนทั้ง 3 พวกก็ตกลงกันว่าควรจะแยกย้ายกันทำมาหากินคนละทางจะดีกว่าเพื่อที่จะได้รู้ภูมิประเทศว่าด้านไหนจะทำมาหากินได้คล่องดีกว่ากัน เมื่อตกลงดังนั้นแล้วจึงแยกทางกันไปทำมาหากิน โดยพวกลาวไปทางคลองสลุด ไทยไปทางคลองชวดลากข้าว พวกรามัญไปทางคลองลาดกระบัง พวกรามัญทำมาหากินอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็ไม่ได้ผลเพราะนก หนู ชุกชุมรบกวนพืชผลต่างๆจนเสียหายมากมาย เมื่อทำมาหากินไม่ได้ผลพวกรามัญก็ปรึกษาเตรียมตัวอพยพกลับถิ่นเดิมที่ปากลัด (พระประแดง) เริ่มอพยพกันในตอนเช้ามืดของเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ก่อนไปก็ได้ไปเก็บดอกบัวในบึงบริเวณนี้มากมาย คนไทยที่คุ้นเคยกับพวกรามัญก็ไต่ถามว่าเก็บดอกบัวไปทำไมมากมายเพียงนี้พวกรามัญก็บอกว่าจะเอาไปบูชาพระคาถาพัน (เทศน์มหาชาติ) ที่ปากลัด และได้สั่งเสียกับคนไทยที่รักและสนิทสนมชิดชอบว่าในปีต่อมาเมื่อถึงเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ให้ช่วยเก็บดอกบัวรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตนี้ด้วยพวกตนจะมารับ ด้วยนิสัยคนไทยนั้นชอบโอบอ้อมอารีรักพวกพ้องจึงตอบตกลง จากนั้นพวกชาวรามัญก็นมัสการหลวงพ่อโตพร้อมทั้งขอน้ำมนต์หลวงพ่อโตไปเพื่อเป็นศิริมงคลและลากลับถิ่นฐานเดิมที่ปากลัดและนำดอกบัวไปบูชาพระคาถาพันปีต่อมาพอถึงกำหนดเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ คนไทยบางพลีก็รวบรวมดอกบัวไว้ที่วัดบางพลีใหญ่ตามคำขอร้องของชาวรามัญ พวกชาวรามัญก็จะมารับดอกบัวทุกปี การมาจะมาในเวลากลางคืน มาโดยเรือขนาดจุ 50-60 คน จะมาถึงวัดประมาณตี 1-4 ของทุกครั้งที่มาและมีการตีฆ้องร้องเพลงตลอดทางอย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งมีการละเล่นต่างๆในเรือ ผู้ที่คอยต้อนรับก็พลอยสนุกสนานไปด้วยไมตรีจิตอันดียิ่ง คนไทยได้ทำอาหารคาวหวานต่างๆเลี้ยงรับรองโดยใช้ศาลาวัดเป็นที่เลี้ยงอาหารกันเมื่ออิ่มหนำสำราญแล้วก็นำดอกบัวไปมนัสการหลวงพ่อโต จากนั้นก็นำดอกบัวกลับไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด
          ประการที่สอง
          ชาวรามัญที่ปากลัด (พระประแดง) มาทำนาอยู่ที่อำเภอบางพลี (ตำบลบางแก้ว) ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าเป็นชาวรามัญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย พร้อมกับเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนีย์) ในสมัยกรุงธนบุรี การอพยพของชาวรามัญครั้งนี้เนื่องจากพระเจ้ามังระ คิดจะมาตีกรุงธนบุรี จึงเกณฑ์พวกรามัญซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาช่วยรบ ชาวรามัญนั้นได้รับการกดขี่ข่มเหงจิตใจถูกฆ่าลูกเมีย ชาวรามัญจึงกบฏต่อพม่าโดยรวมตัวกันไปตีพม่าแต่สู้พม่าไม่ได้ ก็หนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบารมีต่อพระเจ้าตากสินมหาราชและได้นำเอาปี่พาทย์มอญเข้ามาด้วยเมื่อปี พ.ศ. 2317 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พวกรามัญไปตั้งภูมิลำเนาที่ปากเกล็ด แขวงนนทบุรี และปากโคก แขวงปทุมธานี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราชทรงโปรดเกล้าฯให้ย้ายครอบครัวชาวรามัญและพระยาเจ่ง มาอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์(พระประแดง) ในปี พ.ศ. 2367 และต่อมาชาวรามัญได้ทำความดีความชอบได้รับพระราชทานที่นาที่บางพลี จึงเป็นเหตุให้ชาวรามัญมาทำนาที่บางพลี ชาวรามัญนั้นจะมาเฉพาะฤดูทำนา เมื่อเสร็จสิ้นการทำนาก็จะกลับที่ปากลัด เมื่อออกพรรษาชาวปากลัดที่มีเชื้อสายรามัญส่วนใหญ่เป็นผู้เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาก็จะกลับไปทำบุญที่วัดบ้านของตน เมื่อกลับก็จะไปเก็บดอกบัวที่ตำบลบางพลีใหญ่ซึ่งมีมากมายในสมัยนั้นไปประกอบเป็น "ดอกไม้ธูปเทียน" ในการทำบุญที่มีการเทศน์คาถาพันส่งท้ายพรรษา ครั้งแรกก็เก็บกันเองต่อมาชาวอำเภอบางพลีเห็นว่าชาวรามัญมาเก็บดอกบัวทุกปี ในปีต่อๆมาจึงเก็บดอกบัวเตรียมไว้ให้ตามนิสัยคนไทยที่ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ระยะแรกก็ส่งให้กับมือมีการไหว้ขอบคุณ ต่อมาเกิดความคุ้นเคยถ้าใกล้ก็ส่งมือต่อมือ ถ้าไกลก็โยนให้จึง เรียกว่า "รับบัว โยนบัว"
          ประการที่สาม
          เดิมทีเดียวที่ตำบลบางพลีใหญ่ในเป็นตำบลที่มีดอกบัวมาก อำเภอต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงเช่น อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง และอำเภอต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อถึงวาระต้องบำเพ็ญกุศลในเทศกาลออกพรรษาก็มาเก็บดอกบัวที่นี่ เพราะถือว่าดอกบัวเป็นดอกไม้ทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธเจ้าเวลาประทับนั่งยืน เดิน จะมีดอกบัวรองรับเสมอ อีกประการหนึ่งในเรื่องพระมาลัยได้กล่าวว่ามีชายเข็ญใจคนหนึ่งได้ถวายดอกบัวแก่พระมาลัย ยังไปเกิดเป็นเทพบุตรได้ ดังนั้นในสมัยโบราณคนจึงนิยมถวายดอกบัวแก่พระในวันออกพรรษาถือว่าได้บุญกุศลแรงมาก ถึงกับลงทุนนอนค้างอ้างแรมยังตำบลนี้เพื่อเก็บดอกบัว ในสมัยแรกๆ คงเที่ยวหาเก็บกันเองแต่ในสมัยต่อมาชาวบางพลีก็จะเตรียมเก็บไว้เพื่อเป็นการทำกุศลร่วมกันเท่านั้น
พิธีกรรม 
          พอถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ตั้งแต่ตอนเย็นชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการ ชาวพระประแดง และชาวต่างถิ่นจะชักชวนพวกพ้องเพื่อนฝูงลงเรือพร้อมด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิดเช่น ซอ ปี่ กระจับ โทน รำมะนาโหม่ง กรับ ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น พายกันไปร้องรำทำเพลงกันไปตลอดทาง ตลอดคืน ซึ่งบางพวกจะผ่านมาทางลำน้ำเจ้าพระยา บางพวกจะผ่านมาทางลำคลองอื่นๆเข้าคลองสำโรงและมุ่งหน้ามายังหมู่บ้านบางพลีใหญ่สำหรับชาวบางพลีนั้นจะถือปฏิบัติกันเป็นประเพณีว่าเมื่อถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ก็จะต้องเตรียมหาดอกบัวหลวง สำหรับมอบให้แก่ชาวบ้านที่ต้องการและมิตรต่างถิ่นมาเยือนในโอกาสเช่นนี้ ก็คงแสดงมิตรจิตออกต้อนรับ จัดหาสุราอาหารมาเลี้ยงดูกันตั้งแต่ตอนค่ำของวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ส่วนพวกที่มารับบัวคนใดรู้จักมักคุ้นกับชาวบางพลีผู้เป็นเจ้าของบ้าน ก็จะพาขึ้นไปเยี่ยมเยือนบ้านนั้นบ้านนี้ และต่างก็สนุกสนานร้องรำทำเพลงและร่วมรับประทานอาหารสุรากันตลอดคืน พอเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านต่างก็นำเรือของตนออกไปตามลำคลองสำโรงเพื่อไปขอรับบัวจากชาวบ้านบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง การให้และการรับดอกบัวก็จะทำกันอย่างสุภาพ คือส่งและรับกันมือต่อมือ หรือก่อนให้จะยกมือพนมอธิษฐาน เสียก่อนระหว่างชาวบ้านบางพลีกับชาวต่างถิ่นที่สนิทสนมคุ้นเคยกันป็นพิเศษ บางทีชาวบางพลีก็จะโยนดอกบัวลงไปให้กันโดยไม่มีพิธีรีตอง เหตุที่มีการโยนบัวให้กัน แบบมือต่อมือจึงเลือนไปจนมีการนำไปพูดกันตอนหลังว่า รับบัว โยนบัว การรับดอกบัวของชาวต่างบ้านจากชาวบางพลีจะสิ้นสุดเมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. หรือ 09.00 น. และชาวบ้านก็จะพากันกลับ ตอนขากลับจะมีการแข่งเรือกันไปด้วยแต่เป็นการแข่งขันโดยมีเส้นชัย ไม่มีกรรมการตัดสินและไม่มีการแบ่งประเภทหรือชนิดของเรือ ใครพอใจจะแข่งกับใครเมื่อไหร่ที่ใดก็แข่งกันไปหรือจะเปลี่ยนคู่เปลี่ยนคู่แข่งกันไปเรื่อยๆตามแต่จะตกลงกันดอกบัวที่ชาวต่างถิ่นรับจากชาวบางพลีไปนั้นจะนำไปบูชาในเทศกาลออกพรรษาตามวัดในหมู่บ้านของตน 
          ประเพณีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ครั้นนานมาชาวต่างถิ่นที่นำเรือมารับดอกบัวจากชาวบางพลีมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เสียงกระจับ ปี่ สีซอ กลองรำมะนา เสียงเพลงเสียงเฮฮาที่เคยเซ็งแซ่ตามลำคลองสำโรงในคืนวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ก็ค่อยๆเงียบหายไป 
          ต่อมาสมัยนายชื้น วรศิริ (เพชรบูรณะ วรศิริ) เป็นนายอำเภอบางพลี ระหว่าง พ.ศ. 2473-2481 ประเพณีรับบัวมีทีท่าว่าจะเสื่อมสูญไปนั้น ได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เมื่อได้หารือกับพ่อค้าคหบดีตลอดจนข้าราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางอำเภอบางพลีจึงได้ตกลงกันดำเนินการจัดงานประเพณีรับบัวขึ้นคือ เริ่มงานวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 และรุ่งขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันรับบัวอันเป็นครั้งแรกที่ทางราชการเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีรับบัวของชาวบางพลี 
          ในการจัดงานประเพณีรับบัวของทางราชการอำเภอบางพลี มีการแต่งเรือประกวด เริ่มมีมาเมื่อ พ.ศ. 2480 (แต่ก่อนชาวต่างถิ่นจะตกแต่งเรือมาเพียงเพื่อความสวยงามแต่ไม่มีการประกวด) ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ช่วยกันหาดอกบัวแจกข้าวต้มมัดแก่แขกต่างบ้านและผู้จัดเรือประกวดในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนต่างถิ่นและชาวอำเภอบางพลีจะลงเรือล่องไปตามลำคลองสำโรง ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานร่วมกัน ชาวบางพลีจะจัดสุราอาหารไว้ต้อนรับแขกต่างบ้าน ชาวต่างถิ่นคนใดรู้จักมักคุ้นกับชาวอำเภอบางพลีคนใดบ้านใดก็จะพากันไปเยี่ยมเยือน สนุกสนานกับชาวบางพลีบ้านนั้นจนรุ่งเช้า วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ต่างก็จะพากันไปดูการประกวดที่คลองสำโรงหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี 
          ในการจัดงานประเพณีรับบัวมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ มีการแห่หลวงพ่อโต ซึ่งแต่เดิมยังมิได้มีการแห่ดังเช่นสมัยนี้ ในราวปี พ.ศ. 2467 นางจั่นกับพวกได้พร้อมใจกันสร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้น ในวัดบางพลีใหญ่ใน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็จัดให้มีการฉลองโดยแห่องค์พระปฐมเจดีย์นี้ตามลำคลอง แล้วกลับมาห่มองค์พระปฐมเจดีย์กลางคืนก็จัดให้มีมหรสพสมโภช แห่ไปได้ 2-3 ปี ก็หยุดไปด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ ซึ่งเชื่อว่าการแห่ผ้าห่อองค์พระปฐมเจดีย์นี้ได้รับแบบอย่างมาจากการแห่ผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ของอำเภอเมืองสมุทรปราการ ต่อมาก็มีการแห่รูปหลวงพ่อโตแทน โดยความเห็นชอบของท่านสมภารกุ่ย และนายฉลวย งามขำ แห่รูปภาพของหลวงพ่อโตมาหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2485 ก็มีการทำหุ่นจำลองหลวงพ่อโต สานด้วยโครงไม้ปิดกระดาษทาสีทอง แล้วนำแห่แทนรูปภาพของหลวงพ่อโต ซึ่งสร้างโดยนายไสว โตเจริญ ตกกลางคืนก็มีงานมหรสพฉลองกันอย่างครึกครื้นจนถึงสมัยพระครูพิศาลสมณวัตต์เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่ในก็ได้จัดให้ทำการหล่อรูปหลวงพ่อจำลองขึ้น สำหรับแห่ตามลำคลองด้วยอลูมิเนียมใน พ.ศ. 2497 และปัจจุบันแห่โดยรูปหล่อจำลองหลวงพ่อโต (รูปปั้น) โดยจัดเป็นขบวนแห่ไปตามลำคลองสำโรงในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 เป็นการประกาศข่าวงานรับบัวให้ประชาชนทราบและวิธีนี้กลายเป็นประเพณีแห่หลวงพ่อโตก่อนวันงานรับบัว คือ วัน 13 ค่ำ เดือน 11 ตลอดจนถึงปัจจุบัน การแห่หลวงพ่อโตจึงเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีรับบัว ประชาชนที่อยู่สองฝั่งคลองสำโรงที่ขบวนแห่หลวงพ่อโตผ่านจัดประดับธงทิว ตกแต่งบ้านเรือนและตั้งโต๊ะหมู่บูชา พอเช้าวันรุ่งขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 มีการประกวดเรือประเภทต่างๆของตำบลใกล้เคียงและโรงเรียนส่งเข้าประกวด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2500 มีการจัดประกวด ปัจจุบันการประกวดเรือมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทสวยงาม ประเภทความคิด และประเภทขบขันหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น.และงานจะสิ้นสุดลงเวลา 11.00 น. ของวันเดียวกัน ในบางปีจัดให้มีการประกวดเทพีการแข่งเรือ หรืออย่างอื่นแล้วแต่คณะกรรมการ จัดงานรับบัวแต่ละปีจะพิจารณาเห็นสมควร ส่วนการร้องรำทำเพลงไปตามลำน้ำดูหายๆไปจนปัจจุบันไม่มีแล้ว คงเที่ยวสนุกสนานกันตามบริเวณที่จัดให้มีมหรสพเท่านั้น
สาระ 
          "การเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี" เป็นลักษณะเด่นของคนไทยประการหนึ่ง เราคงไม่ปฏิเสธกันว่าคนไทยเป็นผู้ที่ร่ำรวยน้ำใจ ยากที่จะหาประชากรในประเทศใดในโลกเทียมได้ แม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยอมรับในความมีน้ำใจไมตรีของคนไทยเช่นกัน จนได้ให้สมญาประเทศไทยว่า "สยามเมืองยิ้ม" ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั่นเอง และชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการมีสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันถึงความเป็นผู้มีน้ำใจไมตรีของคนไทยเช่นกัน สิ่งนั้นคือมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษของชาวบางพลีได้มอบไว้ให้ลูกหลานของตน นั่นคือ "ประเพณีรับบัว" ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เกิดและจัดขึ้นในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มาช้านานแต่เพิ่งปรากฏหลักฐานในราว พ.ศ. 2467 ว่าเดิมจัดในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี และจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอำเภอบางพลี ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประเพณีรับบัวว่า "ในสมัยก่อนโน้น อำเภอบางพลี มีดอกบัวมากมายตามลำคลอง หนองบึงต่างๆเป็นที่ต้องการของพุทธศาสนิกชน ในอันที่จะนำไปบูชาพระ เหตุที่เกิดประเพณีรับบัว เกิดจากชาวอำเภอพระประแดง และชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการ ที่เป็นชาวมอญ ต้องการนำดอกบัวไปบูชาพระคาถาพันและบูชาพระในเทศกาลออกพรรษา ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนทั้งสองอำเภอนี้ ได้ชักชวนกันพายเรือมาตามลำคลองสำโรงเพื่อมาเก็บดอกบัว เมื่อเก็บได้เพียงพอแล้วก็จะเดินทางกลับบ้านของตนในวันรุ่งขึ้น (ขึ้น 14 ค่ำ) ต่อมาชาวอำเภอบางพลี มีน้ำใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ก็จะร่วมแรงร่วมใจกันเก็บดอกบัวและเตรียมอาหารคาวหวานไว้เพื่อรอรับชาวอำเภอพระประแดงและชาวอำเภอเมืองฯ เช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ขบวนเรือพายของชาวอำเภอพระประแดงและชาวอำเภอเมืองฯก็จะมาถึงหมู่บ้านบางพลีใหญ่ เมื่อรับประทานอาหารที่ชาวอำเภอบางพลีเตรียมไว้ต้อนรับจนอิ่มหนำสำราญดีแล้ว ก็จะพายเรือไปตามลำคลองสำโรง เพื่อขอรับดอกบัวจากชาวอำเภอบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง การส่งมอบดอกบัวจะทำกันอย่างสุภาพ คือส่งและรับบัวกันมือต่อมือ โดยผู้ให้และผู้รับพนมมือตั้งจิตอธิษฐานอนุโมทนาผลบุญร่วมกัน การกระทำเช่นนี้เองจึงได้ชื่อว่าการ "รับบัว" เมื่อปฏิบัติติดต่อกันหลายๆปี จึงได้กลายเป็น "ประเพณีรับบัว" ไปในที่สุด" 
          นับตั้งแต่ พ.ศ. 2428 ถึงปัจจุบัน ชาวอำเภอบางพลีต่างยังไม่แน่ใจว่าตนโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ที่พื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ได้กลายเป็นจุดที่นักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจที่จะมาลงทุนทำกิจการต่างๆ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า อำเภอบางพลี อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯการคมนาคมสะดวกและเป็นแหล่งที่สามารถรองรับความเจริญจากกรุงเทพฯ ได้โดยตรง จึงได้พากันมาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่มาก ปัจจุบันอำเภอบางพลีมีโรงงานอุตสาหกรรมเกือบ 800 แห่ง นอกจากนี้หมู่บ้านจัดสรรก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด สนามกอล์ฟ ขนาดใหญ่หลายแห่ง มีไว้เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้มีอันจะกินเพียงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี สภาพของอำเภอบางพลี เปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ จากสังคมชนบทที่ประชาชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขตามอัตภาพ กลายเป็นสังคมเมืองอุตสาหกรรม ชาวบ้านหลายครอบครัวได้กลายเป็น "เศรษฐีใหม่"ภายในพริบตา โดยการขายที่ดินให้กับนักลงทุนในราคาสูงลิ่ว ปัจจุบันสภาพสังคมในอำเภอบางพลี ไม่แตกต่างไปจากสังคมกรุงเทพฯเท่าใดนัก ทั้งด้านค่าครองชีพ การจราจร การแข่งขันประกอบธุรกิจ ฯลฯ ในสภาวะเช่นนี้แม้แต่ชาวบางพลีที่เป็นคนเก่าแก่เองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนทำให้ประเพณีรับบัวเปลี่ยนรูปโฉมจากเดิม กล่าวกันว่า "ประเพณีรับบัวก็เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆในอำเภอบางพลีที่ต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน เพื่อมิให้ตนต้องสูญหายไปจากโลกนี้"
ประเพณีรับบัว จังหวัดสมุทรปราการ